สารบัญ
แผนการเทรดมีความจำเป็นอย่างไร?
การเตรียมแผนการเทรด
- ขั้นตอนที่ 1 : ภาพทางเทคนิค
- ขั้นตอนที่ 2 : ปัจจัยพื้นฐาน
- ขั้นตอนที่ 3 : สัญญาณจากอินดิเคเตอร์
- ขั้นตอนที่ 4 : การหยุดขาดทุน (Stop Loss) และการทำกำไร (Take Profit)
การปฏิบัติตามแผน
การปรับปรุงแผนของคุณ
โดยสรุป
ในบทความนี้เราจะพูดถึงการเตรียมแผนการเทรดสำหรับนักเทรดมือใหม่ ซึ่งแผนการเทรดจะช่วยในการประเมินสถานการณ์ตลาดปัจจุบันและทำให้แผนการของนักเทรดเป็นจริงได้
แผนการเทรดมีความจำเป็นอย่างไร?
แผนการเทรดเปรียบเสมือนแผนที่สำหรับนักเทรด โดยอิงจากกลยุทธ์การเทรดที่คุณใช้ แผนการเทรดจะช่วยในการกำหนดโอกาสในการเทรดที่มีอยู่และการเทรดที่มีแนวโน้มดี การเทรดที่มีแนวโน้มดีคือการเทรดที่มีโอกาสสำเร็จสูง ทำในเวลาที่เหมาะสม สถานที่ที่เหมาะสม มีความเสี่ยงที่รับได้ และมีโอกาสทำกำไรที่ดี
แผนการเทรดต้องอธิบายแนวคิดการเทรดและการวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบันของคุณอย่างละเอียด มันเป็นการสร้าง "ภาพ" ของมุมมองตลาดของคุณบนกระดาษ หรือในรูปแบบไฟล์ โดยรวมแล้วการวิเคราะห์ที่ประสบความสำเร็จและความคิดเห็นที่ถูกต้องเกี่ยวกับตลาดไม่ได้รับประกันการเทรดที่ดีเสมอไป อย่างไรก็ตาม ความคิดในปัจจุบันของคุณสามารถแสดงให้คุณเห็นถึงขอบเขตที่คุณสามารถค้นหาแนวคิดการซื้อขายได้
เมื่อมีแผนการเทรดที่ชัดเจนและเข้าใจง่าย นักเทรดจะหยุดทำการเทรดที่วุ่นวายและเต็มไปด้วยอารมณ์ พวกเขาจะไม่เป็นเพียงเศษไม้ที่ลอยอยู่บนคลื่นตลาดอีกต่อไป แต่พวกเขาจะกางใบเรือและมุ่งหน้าไปสู่ผลกำไร โดยค้นหาและปิดการซื้อขายที่มีแนวโน้มดี ด้วยแผนการเทรดที่ทำให้การเทรดของพวกเขามีประสิทธิภาพมากขึ้น
การเตรียมแผนการเทรด
กระบวนการเตรียมแผนการเทรดนั่น สามารถแบ่งออกเป็นหลายขั้นตอน ได้แก่ ภาพทางเทคนิค ปัจจัยพื้นฐาน สัญญาณเพิ่มเติมหรืออินดิเคเตอร์ การควบคุมความเสี่ยง และการทำกำไร นักเทรดที่ทำการเทรดอย่างต่อเนื่องจะทำแผนการเทรดทุกเช้า และนำแผนไปปฏิบัติในระหว่างวันพร้อมทั้งทำการแก้ไขและปรับปรุงตามความจำเป็น
- ขั้นตอนที่ 1 : ภาพทางเทคนิค
ในการประเมินภาพทางเทคนิคของตราสารทางการเงิน เราจะใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคแบบดั้งเดิม เปิดกราฟของตราสารทางการเงินที่คุณสนใจ ตรวจสอบหลาย ๆ กรอบเวลา (Timeframes) โดยเริ่มจากกรอบเวลาที่ใหญ่กว่าก่อนแล้วค่อยลดลงไปยังกรอบเวลาที่เล็กกว่า และทำการระบุปัจจัยสำคัญทั้งหมด ได้แก่
- ทิศทางของแนวโน้ม (Trend direction) และเส้นแนวโน้ม (Trend line)
- ระดับแนวรับ (Support level) และแนวต้าน (Resistance level)
- รูปแบบการวิเคราะห์ทางเทคนิค (Technical analysis pattern)
- สัญญาณการเทรดเพิ่มเติม เช่น ระดับฟิโบนันชี (Fibonacci level), การรวมกันของแท่งเทียน (Candlestick combination), รูปแบบ Price Action และวิธีการที่เป็นเอกลักษณ์อื่น ๆ
- หลังจากที่คุณได้ทำการระบุทุกอย่างบนกราฟแล้ว ให้ค้นหาจุดเข้าเทรดที่เหมาะสมตามกลยุทธ์ของคุณ เลือกสัญญาณที่คุณจะใช้เปิดสถานะ เช่น การทะลุหรือการดีดตัวจากระดับสำคัญ การออกจากช่วงราคา การสมบูรณ์ของรูปแบบการวิเคราะห์ทางเทคนิค เป็นต้น ให้คุณทำการระบุจุดเข้าเทรดที่สำคัญทั้งหมดและยืนยันสัญญาณนั้น ๆ ในแผนการเทรดของคุณ
- ขั้นตอนที่ 2 : ปัจจัยพื้นฐาน
สิ่งสำคัญที่ผลักดันให้เกิดการเคลื่อนไหวของราคาในตลาด คือ ข่าวสารพื้นฐาน เช่น การตัดสินใจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย การประกาศตัวชี้วัดเศรษฐกิจมหภาค การกล่าวสุนทรพจน์ของนักการเมือง เป็นต้น ข่าวสารเหล่านี้ทำให้เกิดความผันผวนและให้แนวทางในการเคลื่อนไหวของราคา
เพื่อดูว่าข่าวสารใดจะประกาศออกมาและออกมาเมื่อใดให้คุณใช้ปฏิทินเศรษฐกิจ เปิดดูในตอนเช้าและทำระบุเหตุการณ์สำคัญของวัน หลังจากมีข้อมูลสำคัญออกมา อาจมีสัญญาณให้เปิดตำแหน่งตามแผนการเทรดของคุณ ซึ่งนี่คือสิ่งสำคัญของการเทรดข่าวสาร หรือในทางตรงกันข้าม คุณอาจต้องปิดตำแหน่งที่มีกำไรหรือลดความเสี่ยงลง โดยการเลื่อนจุดการหยุดขาดทุน (Stop Loss) ให้ใกล้เข้ามามากขึ้นก่อนที่ข้อมูลข่าวสารบางประการจะประกาศออกมา
- ขั้นตอนที่ 3 : สัญญาณจากอินดิเคเตอร์
ในปัจจุบันมีอินดิเคเตอร์จำนวนมากที่ช่วยให้นักเทรดทำการวิเคราะห์ตลาดอย่างครอบคลุม อินดิเคเตอร์ทางการเทรดเป็นฟังก์ชันทางคณิตศาสตร์ที่อ้างอิงจากราคาและปริมาณการซื้อขาย ซึ่งไม่เพียงแค่ช่วยในการวิเคราะห์ตลาดเท่านั้น แต่ยังสามารถให้สัญญาณการเทรดเพิ่มเติมได้อีกด้วย บางอินดิเคเตอร์เหมาะสำหรับการวิเคราะห์แนวโน้ม บางอินดิเคเตอร์ก็เหมาะสำหรับตลาดที่ไม่มีปริมาณการซื้อขายมากนัก และบางอินดิเคเตอร์ก็สามารถใช้ในตลาดทั่ว ๆ ไปได้
โดยทั่วไป นักเทรดจะใช้อินดิเคเตอร์เป็นส่วนเสริมสำหรับการวิเคราะห์ทางเทคนิค อินดิเคเตอร์สามารถให้สัญญาณยืนยันสำหรับการเปิดตำแหน่ง แสดงทิศทางของแนวโน้ม และให้ข้อมูลสำหรับการวางจุดการหยุดขาดทุน (Stop Loss) และการทำกำไร (Take Profit) คุณควรจดบันทึกอินดิเคเตอร์ที่คุณใช้และสัญญาณการเปิดและปิดที่พวกเขาให้ในแผนการเทรดของคุณ
- ขั้นตอนที่ 4 : การหยุดขาดทุน (Stop Loss) และการทำกำไร (Take Profit)
เพื่อจำกัดความเสี่ยงในการซื้อขาย คุณจำเป็นต้องมีแผนที่เข้มงวดในการปิดสถานะที่ขาดทุนและการทำกำไร เมื่อตลาดเคลื่อนไหวสวนทางกับตำแหน่งของคุณ การหยุดขาดทุน (Stop Loss หรือ SL) และการรับกำไร (Take Profit หรือ TP) จะทำหน้าที่เปรียบเสมือนการประกัน โดยจำกัดการขาดทุนและปกป้องกำไร ดังนั้นเมื่อวางแผนการซื้อขาย คุณจำเป็นต้องตรวจสอบตำแหน่งซื้อขายที่ถูกต้องทางเทคนิคสำหรับการหยุดขาดทุนและวิธีการทำกำไรของคุณ
อัตราส่วนการหยุดขาดทุนต่อการทำกำไรมีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งสามารถใช้เป็นตัวกรองเพิ่มเติมในการเลือกการซื้อขายได้ด้วย หากใช้อัตราส่วน 1:1 คุณควรพิจารณาการซื้อขายอย่างถี่ถ้วน เราแนะนำให้คุณเลือกการซื้อขายที่อัตราส่วน 1:2 หรือมากกว่านั้น ซึ่งการซื้อขายเหล่านี้คือสิ่งที่เราเรียกว่าเป็นการซื้อขายที่มีแนวโน้มดี กล่าวคือเมื่อมีผลกำไรที่เป็นไปได้สูงกว่าการขาดทุนที่เป็นไปได้หลายเท่า
การปฏิบัติตามแผน
เมื่อแผนของคุณเสร็จสมบูรณ์ คุณจะมีภาพรวมที่สมบูรณ์ของการดำเนินการที่เป็นไปได้ในตลาด ซึ่งภาพรวมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ตลาดไหนและใช้สัญญาณใดในการเตรียมการซื้อขาย ข่าวสารใดที่อาจส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของราคา ตำแหน่งใดที่ควรวางจุดการหยุดขาดทุน (Stop Loss) และการทำกำไร (Take Profit) ดังนี้
- ตราสารทางการเงินที่คุณเลือกใช้และแนวโน้มปัจจุบัน
- สัญญาณเพื่อเปิดสถานะการซื้อขาย (การวิเคราะห์ทางเทคนิค ข่าว อินดิเคเตอร์ เป็นต้น)
- จุดเข้าและทิศทางการซื้อขาย
- การควบคุมความเสี่ยง – ควรวางจุดการหยุดขาดทุน (Stop Loss) ไว้ที่ใด
- จุดไหนหรือเมื่อใด ที่สามารถทำกำไร (Take Profit) ได้
จากนั้นนักเทรดต้องปฏิบัติตามแผนของตนอย่างเคร่งครัด หากมีสัญญาณในการเปิดการซื้อขาย ให้เข้าสู่ตลาด หากไม่มีสัญญาณ ควรอยู่ข้างสนามและไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับตลาด ซึ่งความมีวินัยของนักเทรดเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง และการเตรียมแผนการซื้อขายอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ สิ่งที่สำคัญคือการปฏิบัติตามแผนอย่างเคร่งครัด ซึ่งการมีจิตวิทยาพื้นฐานในการเทรดอาจช่วยคุณได้
การปรับปรุงแผนของคุณ
ในระหว่างวันอาจจำเป็นต้องมีการแก้ไขแผนในบางจุด ซึ่งขึ้นอยู่กับการเคลื่อนไหวของราคา อาจมีสัญญาณเพิ่มเติมปรากฏขึ้น หรือในทางตรงกันข้าม บางสัญญาณอาจไม่เกี่ยวข้องอีกต่อไป ซึ่งเป็นเรื่องปกติเนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่าง รวมถึงตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจระดับมหภาคที่ส่งผลต่อตลาด ดังนั้นจึงควรทำการปรับปรุงแผนการที่จำเป็นทั้งหมด และปฏิบัติตามการแก้ไขเหล่านั้น
เมื่อสิ้นสุดวัน ให้จดบันทึกผลลัพธ์ดังกล่าว สิ่งนี้จะช่วยให้คุณเห็นว่าคุณได้ปฏิบัติตามแผนการเหล่านั้นได้จริงหรือไม่ นอกจากนี้ในภายหลังคุณจะสามารถประเมินสถิติ เห็นจุดอ่อนและจุดแข็งของระบบการเทรดของคุณ และทำการแก้ไขหากจำเป็น
โดยสรุป
แผนการซื้อขายเป็นเครื่องมือและอาวุธหลักของนักเทรด ซึ่งมีไว้เพื่อประเมินสถานการณ์ปัจจุบันในตลาด และวางแผนและดำเนินการซื้อขายที่มีโอกาสได้กำไร การมีแผนการซื้อขายที่เตรียมไว้อย่างดี จะทำให้นักเทรดสามารถป้องกันตนเองจากการซื้อขายที่ไร้ระเบียบและเต็มไปด้วยอารมณ์ การมีวินัยและละเอียดรอบคอบเกี่ยวกับแผนการซื้อขายของคุณจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการซื้อขายและทักษะทางวิชาชีพของคุณได้